ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก :
ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หมายถึง ปูนซีเมนต์ที่ก่อตัวและแข็งตัวเนื่องจากการทำปฏิกิริยากับน้ำและมีความสามารถทำนองเดียวกัน เมื่ออยู่ในน้ำโดยมีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594 กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการประกาศใช้ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556 มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของปูนซีเมนต์ (Performance Based) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ
 
มาตรฐานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก : มอก. 2594
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอ้างอิงกับมาตรฐาน ASTM C1157 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นควบคุมที่คุณสมบัติและประสิทธิภาพ (Performance Based) มากกว่าควบคุมลักษณะทางเคมี (Prescriptive Based)

เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานและสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้งาน ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 กำหนดให้ผู้ผลิตต้องควบคุมคุณภาพด้านความต้านแรงอัด (Strength) ตามระยะอายุที่กำหนด และควบคุมการขยายตัวที่อายุ 14 วัน จึงเป็นข้อดีของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 ที่จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพให้ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละประเภทงานก่อสร้างได้ตรงตามวัตถุประสงค์
 
  มาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้าง
กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • มาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร มยผ. 1101-64 ถึง มยผ. 1106-64
กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง
  • มาตรฐานพื้นทางดินซีเมนต์ ทล.-ม. 204/2564
  • มาตรฐานรองพื้นทางดินซีเมนต์ ทล.-ม. 206/2564
  • มาตรฐานถนนซีเมนต์คอนกรีต ทล.-ม. 309/2565
  • มาตรฐานพื้นทางหินคลุกปรับปรุงคุณภาพด้วยปูนซีเมนต์ ทล.-ม. 214/2566
กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท
  • มาตรฐานงานคอนกรีตและคอนกรีตเสริมเหล็ก มทช. 101-2563
  • มาตรฐานงานผิวจราจรคอนกรีต มทช. 231-2564
กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
  การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • แบบก่อสร้างกำหนดให้ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน
  • รายละเอียดด้านวิศวกรรม (Specification) บทที่ 4 งานคอนกรีต (Concrete Work)
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ข้อกำหนดมาตรฐานวัสดุและการก่อสร้างสำหรับโครงสร้างคอนกรีต พ.ศ. 2565 วสท. 011014-22
 
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกได้รับการรับรอง

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594
 
สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT)
 
คุณสมบัติของคอนกรีตที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
 
จุดเด่นของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
ใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
 
คอนกรีตทึบแน่น ส่งผลให้โครงสร้างคอนกรีตแข็งแรงมากขึ้น
 
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ทนต่อการขัดสี และหลุดร่อน
 
กำลังอัดสูงเหมาะกับงานโครงสร้างประเภทต่าง ๆ
 
ผิวคอนกรีตเรียบเนียน
 
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยกับความพร้อม
ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly Industry) ผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงได้วิจัย พัฒนา และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” และสามารถใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายมีความพร้อมในการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
 
 
การใช้งานในประเทศไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน
  • โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์
กระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
  • งานพื้นซีเมนต์ขัดมัน
กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กรมยุทธบริการทหาร
  • โครงการพัฒนาพื้นที่
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • งานปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำโดยรอบมหาวิทยาลัย
การใช้งานในต่างประเทศ
 
ข้อดีและประโยชน์ของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
  • มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ได้การรับรองจากหลายมาตรฐาน สนองตอบความต้องการแต่ละประเภทของงานก่อสร้างโครงสร้าง (Performance Based) ได้มากกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต นำมาซึ่งประโยชน์ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จนสามารถกล่าวได้ว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นปูนซีเมนต์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน
  • เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low CarbonSociety) อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608
 
เอกสารรักษ์โลกด้วยปูนซีเมนต์
ไฮดรอลิก
 
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตอน : สร้างความรู้จัก "ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก"
 
คำถามพบบ่อย
Q.1 วัสดุทดแทนที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกคืออะไร?
 
ปัจจุบันผู้ผลิตของไทยใช้ส่วนประกอบแคลเซียม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต หินปูน ปูนขาว ปูนสุก ฝุ่นจากเตาเผาปูนเม็ด เนื่องจากความพร้อมด้านปริมาณสำรองและคุณภาพ ทั้งนี้ วัสดุทดแทนที่ใช้จะปรากฏที่ถุงบรรจุปูนซีเมนต์ หรือใบส่งของ หรือใบรับรองผล หรือที่อื่นใดที่ได้ตกลงไว้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ทำให้ผู้ใช้ได้ทราบ
 
Q.2 กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแตกต่างจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ไหม?
 
ไม่แตกต่างกัน โดยการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ได้วิจัย พัฒนา และนำเทคโนโลยีการบดปูนซีเมนต์เข้ามาใช้ในการปรับแต่งคุณลักษณะของวัสดุทดแทน เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนด และตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งาน (Performance Based)
 
Q.3 ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?
 
การผลิตปูนซีเมนต์จะมีกระบวนการเผาวัตถุดิบ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นปูนเม็ด (Clinker) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา ดังนั้น การใช้ปูนเม็ดในสัดส่วนที่น้อยลงก็จะเป็นการลด CO2 นั่นเอง
 
 
Q.4 ผู้ใช้งานจะมั่นใจในความสม่ำเสมอของคุณภาพได้อย่างไร? เนื่องจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 ไม่ได้กำหนดคุณลักษณะทางเคมี?
 
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 ถูกกำหนดเกณฑ์ควบคุมคุณภาพในหลายรายการที่สูงกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เช่น การต้านแรงอัด การขยายตัว จึงทำให้มั่นใจได้ว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด แม้ไม่มีการกำหนดคุณลักษณะทางเคมี
 
Q.5 หากใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แล้วเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกได้เลยไหม?
 
สามารถใช้ได้เลยได้ เนื่องจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกถูกออกแบบมาเพื่อใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
 
Q.6 ราคาจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์?
 
สามารถตรวจสอบราคาจัดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ ราคาวัสดุก่อสร้าง หมวดวัสดุผลิตภัณฑ์ www.price.moc.go.th/price/struct/
index_new.asp